top of page
Search

คาราเต้โอกินาวะกับคาราเต้ญี่ปุ่น ต่างกันอย่างไร?

  • Writer: ケイ
    ケイ
  • Apr 27, 2019
  • 1 min read


จากเกาะโอกินาวะข้ามทะเลขึ้นเหนือสู่เกาะญี่ปุ่นเมื่อประมาณเกือบร้อยปีที่แล้ว คาราเต้ถูกปรับให้เข้ากับปรัชญาของศาสตร์ที่มีอยู่ก่อนแล้วในญี่ปุ่น อย่างเคนโดและยูโด คุณลักษณะเฉพาะตัวของคาราเต้ดั้งเดิมที่ถือกำเนิดในเกาะใต้ ดินแดนที่เคยมีเอกราชเป็นของตัวเอง จึงเหลือให้เห็นไม่มาก แต่เหล่าสำนักต่างๆที่มีอยู่มากกว่า 400 แห่งบนเกาะโอกินาวะก็ยังคงรักษาต้นแบบคาราเต้ดั้งเดิมไว้ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสและค้นหา เมื่อเทียบกับคาราเต้ญี่ปุ่นแล้ว คาราเต้โอกินาวะ...


⦿ ไม่มีการแข่งขันต่อสู้

เนื่องจากคาราเต้โอกินาวะถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นระบบจากความจำเป็นในการป้องกันตัวสำหรับคนที่ไม่มีอาวุธ (ชาวโอกินาวะถูกห้ามไม่ให้พกอาวุธตั้งแต่ในศตวรรษที่ 15) จึงเน้นที่เทคนิคการป้องกันตัวและจบการต่อสู้ให้เร็วที่สุด เทคนิคการหยุดผู้ไม่หวังดีจึงอันตรายและไม่เหมาะในการใช้แข่งขันให้คนดูเพื่อความบันเทิง (เช่น การจิ้มตา เจาะคอ อัดไข่ หักเข่า หักแขน ฯลฯ) การฝึกคาราเต้ในแบบดั้งเดิมจึงไม่มีการแข่งขันต่อสู้แบบ free sparing (แต่ในบางโดโจอาจจะมีเพราะต้องการดึงวัยรุ่นเข้ามาฝึก) แม้แต่ตอนที่ Funakoshi Gichin (ผู้ให้กำเนิด "modern karate" หรือคาราเต้โชโตกัน โดยการนำคาราเต้ลูกผสมระหว่าง Shorin-ryu กับ Shorei-ryu จากโอกินาวะไปเผยแพร่ในญี่ปุ่นในปี 1922) ยังกำชับลูกศิษย์ห้ามประลองกันโดยเด็ดขาด แต่เมื่อฟูนาโคชิเสียชีวิตลงในปี 1957 ลูกศิษย์ (นำโดย Nakayama Masatoshi) ก็จัดการแข่งขันต่อสู้คาราเต้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีถัดมา


⦿ ไม่มีคำว่า "Oss"

สำหรับคนที่ฝึกคาราเต้ญี่ปุ่นไม่ว่าสายไหน จะคุ้นและชินกับการขานรับหรือแม้แต่ทักทายด้วยคำว่า Oss (押忍 โอซุ) เป็นประจำ คล้ายเป็นการแสดงความเคารพอย่างเข้มแข็งมุ่งมั่น ทั้งต่อเพื่อนร่วมโดโจและเซนเซ คำนี้เป็นภาษาทหารที่ถูกนำเข้ามาใช้ตอนที่มีการสอนคาราเต้ให้กับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ซึ่งอาจจะมาจากประเพณีซามูไรอีกที) จึงเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังคาราเต้เข้าสู่ญี่ปุ่นแล้ว โดยไม่มีการใช้ในโอกินาวะมาตั้งแต่แรก การขานรับในโดโจโอกินาวะจึงใช้แค่คำว่า hai (はい) ธรรมดาในแบบที่พลเรือนทั่วไปใช้กัน (ผมเคยเผลอใช้ Oss กับเซนเซที่โอกินาวะ เขาก็อมยิ้มนิดๆ มารู้ทีหลังถึงเข้าใจ)


⦿ ไม่เน้น Kime แต่เน้น Chinkuchi

อย่างที่อธิบายไปแล้วในบทความที่แล้ว Kime (決め คิเมะ) เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลตรงๆว่า fixation หรือการกำหนดอย่างแน่นอน ซึ่งในคาราเต้หมายถึงการหยุดเทคนิคในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้อย่างทันทีทันใด ส่วนจินคุจิเป็นภาษาโอกินาวะที่หมายถึงการระเบิดพลังของเทคนิคในระยะทางและเวลาอันสั้นเพื่อสร้างคลื่นกระแทก (atifa) ทะลวงลึกเข้าไปในเป้าหมาย การฝึกเทคนิค (หมัด เท้า สันมือ ข้อมือ ฯลฯ) จึงไม่เน้นที่ความสามารถในการหยุดเทคนิคไว้ในตำแหน่งใดตำแหน่งนึงอย่างคาราเต้ญี่ปุ่น แต่จะเน้นที่อำนาจการทำลายล้างของเทคนิคมากกว่า


⦿ ท่ายืนหลักจะเป็นท่าที่เน้นการตั้งรับ

ในคาราเต้ญี่ปุ่น (โดยเฉพาะโชโตกัน) ท่ายืนที่ใช้บ่อยที่สุดคือ zenkutsu-dachi ซึ่งเป็นท่ายืนที่เน้นการบุก (น้ำหนักตัวไปข้างหน้า) แต่เนื่องจากจุดประสงค์หลักของคาราเต้โอกินาวะคือการป้องกันตัว ท่ายืนหลักไม่ว่าจะสายไหนมักจะเป็น sanchin-dachi หรือ moto-dachi ที่ยืนสูงและน้ำหนักตัวเท่ากันทั้งสองขา และ neko-ashi-dachi ที่น้ำหนักตัวไปข้างหลัง (ที่โอกินาวะไม่มีทั้ง kokutsu-dachi และ kiba-dachi)


⦿ เน้นเทคนิคระยะประชิด

ด้วยจุดประสงค์ของการป้องกันตัวเฉพาะในยามจำเป็น เทคนิคในคาราเต้โอกินาวะจึงเน้นที่ระยะประชิดจวนตัวเท่านั้น เซนเซ Yagi Akihito บอกไว้ว่า เทคนิคในการป้องกันตัวระยะไกลที่ได้ผลที่สุดคือการวิ่ง! เพื่อไม่ให้ต้องมีการเผชิญหน้าตั้งแต่แรก แต่หากจวนตัวหลีกเลี่ยงไม่ได้และมีชีวิตเป็นเดิมพันเท่านั้นจึงจำเป็นต้องงัดคาราเต้ออกมาใช้และต้องใช้อย่างเด็ดขาด แต่ในคาราเต้ญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันต่อสู้ เทคนิคระยะยาวจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำแต้ม


⦿ เน้นการฝึก Sticky Hands

การฝึก kakie หรือ "sticky hands" หรือ "push hands" ที่ผู้ฝึกสองคนดันข้อมือไปมาคล้ายการประลองกำลัง (ซึ่งคนที่ฝึกมวยจีนหรือไอคิโดจะรู้ดีว่ามันลึกซึ้งกว่านั้นมาก) เป็นการฝึกที่คาราเต้โอกินาวะทุกสายให้ความสำคัญมาก ในขณะที่คาราเต้ญี่ปุ่นไม่เน้นหรือแทบจะไม่ฝึกเลย สาเหตุเพราะคาราเต้โอกินาวะเน้นเทคนิคระยะประชิดที่ต้องใช้ความรู้สึกจากการสัมผัสว่าอีกฝ่ายจะทำอะไร ไปทางไหน (ซึ่งถ้าอาศัยสายตาอย่างเดียวจะมองไม่ทัน) จากนั้นหากต้องใช้กำลังในการรับหรือรุกจะได้ใช้ ki ซึ่งเป็นพลังที่ดึงมาจากตันเถียน ได้อย่างถูกจังหวะเพื่อสร้างความได้เปรียบ


⦿ มีฝึก Kobudo กันทุกโดโจ

Kobudo (古武道 โคบูโด) แปลว่าวิถีการต่อสู้แบบโบราณ เป็นระบบการต่อสู้ที่มาจากจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามาโอกินาวะก่อนคาราเต้หลายร้อยปี และถือเป็นวิชาสำคัญที่นักรบริวคิวต้องฝึกไว้เพื่อปกป้องอาณาจักร ในยุคที่ถูกห้ามไม่ให้พกอาวุธ คนจึงต้องแอบฝึกโคบูโดในที่ลับเพื่อไม่ให้สูญหายเพราะคนโอกินาวะถือว่าเป็นศาสตร์โบราณที่ต้องรักษาไว้ โดโจคาราเต้ทุกแห่งในโอกินาวะจะมีอาวุธโคบูโดแขวนไว้สำหรับใช้ฝึกคาตะอาวุธ


นี่คือความแตกต่างเท่าที่รู้ ณ ตอนนี้จากประสบการณ์ หากได้เรียนรู้เพิ่มเติมจะนำมาเล่าให้ฟังในภายหลังครับ


เครดิตภาพ: Venum Store

 
 
 

Comments


©2019 by Karate Phitsanulok. Proudly created with Wix.com

Subscribe Form

bottom of page