Kime (決め) & Chinkuchi (チンクチ)
- ケイ
- Apr 22, 2019
- 1 min read
Updated: Apr 24, 2019

ผู้ฝึกคาราเต้คงคุ้นกับคำว่า kime ดี แต่ความเข้าใจในคิเมะของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจเข้าใจว่า 'ki' ในคิเมะมาจาก 気 หรือชี่ที่หมายถึงกำลังภายใน และเมะหมายถึงการโฟกัสหรือรวมศูนย์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกซะทีเดียว แต่ก็เป็นวิธีคิดที่ช่วยให้คาราเต้ของคนๆนั้นดูแน่นดูคมขึ้น ความจริงแล้วความหมายของคิเมะมันไม่ได้ลึกลับขนาดนั้น คิเมะมาจากคำกริยาว่า kimeru (決める) ซึ่งหมายถึงการกำหนดหรือการ fix ไว้ในตำแหน่งหรือเวลาที่แน่นอน เช่นหากเราจะถามเพื่อนว่าได้กำหนดวันออกเดินทางไว้แน่นอนแล้วหรือยัง ภาษาญี่ปุ่นก็จะพูดว่า 出発日を決めましたか? (shuppatsu-bi o KIME mashita ka?) ฉะนั้นที่อาจารย์คาราเต้ญี่ปุ่นบอกให้เราคิเมะ คือเขาต้องการให้เราหยุดหรือล็อคท่าไว้ในตำแหน่งที่กำหนด เช่น ชกออกไปเต็มสปีดแต่ให้หยุดหมัดไว้แค่ที่เสื้อคู่ต่อสู้ หรือหยุดเท้าไว้แค่ผิวไม่ให้เตะผ่าทะลุทะลวงแบบมวยไทย เป็นต้น คาราเต้ญี่ปุ่นเน้นเรื่องนี้มากเพราะเขาให้ความสำคัญกับการควบคุมตัวเอง (self control) เพราะเขามองว่าการฝึกการควบคุมเป็นหนทางไปสู่ความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบซามูไร โดยเราสามารถเห็นได้จากคาตะสไตล์ญี่ปุ่นที่เทคนิคจะเร็ว แต่นิ่งคม หยุดหรือเปลี่ยนทิศทางได้อย่างฉับพลัน
เจซซี่อธิบายความหมายของคิเมะและวิธีการฝึกง่ายๆเพื่อพัฒนาคิเมะที่บ้านได้
แต่ในคาราเต้โอกินาวะไม่มี concept ของคิเมะ มีแต่ chinkuchi ซึ่งเป็นภาษาริวเคียนหรือภาษาโอกินาวะดั้งเดิม โดยหากจะเขียนเป็นคันจิก็มักจะใช้เป็น 一寸力 ที่แปลตามตัวได้ว่า พลังหนึ่งนิ้ว ซึ่งแฟนบรูซลีคงรู้จักดีในนาม "หมัดหนึ่งนิ้ว" หรือ one inch punch ที่หมัดสามารถส่งพลังไปยังคู่ต่อสู้ได้ภายในระยะทางแค่นิ้วเดียว แม้ในความเป็นจริงอาจจะเป็นไปได้ยากมาก แต่มันคือการอธิบายคอนเซปของการระเบิดพลังภายในระยะทางและเวลาอันสั้น คาราเต้โอกินาวะไม่เน้นการควบคุมมากเท่าคาราเต้ญี่ปุ่น แต่เน้นที่ประสิทธิภาพในการยุติการต่อสู้ให้เร็วที่สุดด้วยเทคนิคที่สามารถทำลายคู่ต่อสู้ให้ไม่สามารถหรือไม่ต้องการสู้ต่อไปได้ การโจมตีหรือตอบโต้ด้วยเทคนิคแบบจินคุจิ หมัด หรือเท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่ส่งออกไปยังคู่ต่อสู้ จะเน้นการเร่งเทคนิคอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างโมเมนตัมในลักษณะคล้ายแรงระเบิด ให้ส่งทะลุทะลวงไปยังเป้าหมาย เมื่อหมัดกระทบเป้า "แรงระเบิด" นี้จะส่งคลื่นกระแทกหรือ shock wave หรือในภาษาโอกินาวะใช้คำว่า atifa เข้าไปภายในร่างกายคู่ต่อสู้จน "ช้ำใน" การฝึกชก makiwara ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ ไม่ใช่ชกเพื่อฝึกการหยุดหมัด หรือฝึกคิเมะ แต่ชกเพื่อฝึกการสร้างโมเมนตัมแบบทะลุทะลวง และสร้าง body structure ที่แข็งแรงให้สามารถรองรับแรงกระแทกและดีดกลับของ makiwara ได้อย่างมั่นคง ลักษณะการชกหรือเตะในคาราเต้โอกินาวะจึงดูไม่คมนิ่งเนียบ เปลี่ยนทางได้ฉับไวแบบญี่ปุ่น แต่ผู้ชมจะสามารถรู้สึกถึงความรุนแรงของท่าจนอาจรู้สึกจุกหรือเจ็บแทนคู่ต่อสู้เสมือนที่อยู่ในคาตะได้
เจซซี่อธิบายจินคุจิและวิธีการฝึกเพื่อสร้างความรู้สึกได้อย่างน่าสนใจ
คงไม่มีใครสาธิตพลังจินคุจิได้ชัดเจนเท่าเซเซน Ikemiyagi Masaaki
- นาทีที่ 1:40 ชกไม้ 5 แผ่นรวมหนา 3 นิ้ว (ไม่มี spacer ระหว่างแผ่น) สังเกตว่าเซนเซคว่ำหมัดก่อนปะทะเป้านานพอสมควร ไม่เหมือนกับการสร้างคิเมะที่จะคว่ำหมัดเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนหยุดหรือล็อคหมัด
- นาทีที่ 5:34 ชก makiwara หัก! (ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีคนทำได้)
- นาทีที่ 7:50 สาธิตหมัดจินคุจิใน kumite (เห็นได้ว่าต่างจากคิเมะชัดเจน)
อ้างอิง
http://www.karatebyjesse.com/kime-putting-the-nail-in-the-coffin/
http://ryukyuma.blogspot.com/2014/04/a-chinkuchi-makiwara-exercise.html
http://asaikarate.com/what-is-chinkuchi-チンクチって何だろう?/
http://isshin-concentration.blogspot.com/2015/07/uchinaanchu-nu-tuudi-tu-tegua-and-atifa.html
Comments