top of page
Search

Ryuei-ryu คาราเต้ที่เคยเป็นความลับมากว่าสองร้อยปี ตอนนี้ดังระดับโลก

  • Writer: ケイ
    ケイ
  • May 18, 2020
  • 1 min read

บทสัมภาษณ์เซนเซ Tsuguo Sakumoto ผู้สืบทอดคาราเต้สาย Ryuei-ryu รุ่นที่ 5 อดีตแชมป์โลกคาตะ 7 สมัยซ้อนและอาจารย์ของแชมป์โลกถึง 9 คน รวมทั้ง Ryo Kiyuna ด้วย ริวเออิริวเป็นสายคาราเต้เก่าแก่ที่มีประวัติเฉพาะตัว มีทั้งการฝึกมือเปล่าและการใช้อาวุธควบคู่กันไป โดยเริ่มจากในปี 1838 Norisato Nakaima เดินทางไปจีนตอนอายุ 19 เพื่อเรียนวิชามวยมังกรกับ Ryu Ryu Ko* เป็นเวลา 7 ปี และตั้งกฎเหล็กไว้ว่า มวยนี้จะสอนให้เฉพาะคนในตระกูล Nakaima เท่านั้น (คงเพราะใช้เงินลงทุนไปมากตอนไปเรียนที่จีน) จนในปี 1968 Kenko Nakaima ผู้สืบทอดวิชารุ่นที่ 4 คิดว่าถึงเวลาแล้วที่กฎนี้จะถูกยกเลิกได้แล้ว จึงเริ่มสอนริวเออิริวให้กับคนนอกตระกูลเป็นครั้งแรก และเซนเซซาคุโมโตะก็เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกที่ไม่ใช่คนในตระกูลนาไคมะ และเป็นคนนอกตระกูลคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดวิชารุ่นที่ 5 เทียบเท่า Kenji Nakaima ลูกชายของ Kenko ด้วยการรักษาวิชาเป็นความลับภายในตระกูลเป็นเวลานาน ในยุคนั้นริวเออิริวจึงมีคนฝึกไม่มากและไม่เป็นที่รู้จักแม้แต่ในญี่ปุ่นเอง จนกระทั้งในปี 1984 เซนเซซาคุโมโตะได้แชมป์โลกคาตะครั้งแรก คาราเต้สายริวเออิริวจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวโลก ซึ่งในครั้งแรกที่เซนเซเดินทางไปแข่งต่างประเทศ อาจารย์ของเซนเซไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าการแข่งขันจะทำให้แก่นแท้ของคาราเต้จางลงไป แต่เซนเซก็ไปแข่งอยู่ดี ไม่ใช่เพราะต้องการจะชนะ แต่ต้องการจะให้ชาวโลกเห็นและรู้จักริวเออิริว ที่ถูกปิดเป็นความลับมากว่า 200 ปี จนปัจจุบันริวเออิริวเป็นที่สนใจในระดับโลกอย่างต่อเนื่องจากความสำเร็จของ เรียว คิยูนะ ลูกศิษย์ของเซนเซซาคุโมโตะ ทุกวันนี้คาตะริวเออิริว เช่น Annan, Annandai, Ohan, Ohandai กลายเป็นคาตะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการแข่งขันระดับโลก เอกลักษณ์ของริวเออิริวคือการป้องกันและโจมตีในจังหวะเดียวกัน การเคลื่อนที่แบบซิกแซก และการโจมตีสองครั้งในหนึ่งก้าว เซนเซมองว่าการแข่งขันต่อสู้ (คูมิเตะ) มีข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยเข้ามาจึงไม่สามารถใช้เทคนิคของวิชาได้ทุกอย่าง (แก่นของวิชาจางลงไปอย่างที่อาจารย์ของเซนเซคิดไว้) แต่ในการแข่งขันคาตะสามารถออกเทคนิคได้เต็มที่และเต็มแรง จึงสามารถแสดงความเป็นคาราเต้ที่แท้จริงได้มากกว่า และในคาตะยังซ่อนความหมายและการประยุกต์ใช้ที่สามารถศึกษาและตีความได้อย่างไม่สิ้นสุด เซนเซมองว่าแม้การคงรักษาไว้ซึ่งรูปแบบดั้งเดิมของคาราเต้จะสำคัญ แต่การปล่อยให้ศาสตร์สามารถวิวัฒนาการไปได้ตามยุคสมัยก็สำคัญเช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่ควรตัดสินว่าแบบไหนผิดหรือถูก แต่ควรมองว่าแบบไหนเหมาะกับใครในยุคสังคมแบบไหนมากกว่า เซนเซเห็นว่าการฝึกคาราเต้ไม่ได้เพื่อจุดประสงค์ใดๆ แต่ฝึกเพราะมองคาราเต้เป็นเส้นทาง ที่การเดินทางมีความสำคัญมากกว่าจุดมุ่งหมายอย่างเทียบกันไม่ได้ และถ้าคาราเต้จะมีจุดมุ่งหมายใดซักจุดนึง เซนเซเห็นว่ามันคือสังคมที่อยู่ร่วมกันด้วยเกื้อกูล ที่แน่ๆไม่ใช่ฝึกเพียงเพื่อจะอนุรักษ์คาราเต้ให้แช่แข็งอยู่กับที่และไม่ยอมรับในความแตกต่าง เซนเซพูดถึงคิยูนะว่าเขาและทีมชาติญี่ปุ่นฝึกหนักตั้งแต่ 11 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นทุกวันโดยไม่มีวันหยุด แต่มันคุ้มค่าเพราะเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความฝันที่อยากจะฝึกคาราเต้ให้ได้เก่งแบบคิยูนะและทีมชาติคนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน เด็กเหล่านั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาทุ่มเทกับการฝึกเช่นกัน นี่คือสาเหตุที่ทำไมเซนเซถึงเห็นว่าคาราเต้ควรจะวิวัฒนาการไปตามโลก เพราะโลกเป็นของคนรุ่นใหม่ โอกินาวะเป็นแค่เกาะเล็กๆ คนรุ่นเก่าไม่ควรดึงคนรุ่นใหม่ไว้ให้อยู่แช่แข็งคาราเต้แค่ในเกาะเล็กๆนี้ คาราเต้ควรจะสามารถสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เดินตามความฝัน เช่นสามารถตระเวณไปแข่งได้ทั่วโลก ได้พบปะผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรม จนอาจไปเปิดโดโจในต่างประเทศสร้างลูกศิษย์รุ่นใหม่ในดินแดนใหม่ขึ้นมาอีก ให้ทุกคนได้เห็นว่าคาราเต้เป็นของขวัญจากโอกินาวะให้กับชาวโลก ดูบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/vdF93J9hQmA เซนเซซาคุโมโตะกำลังจะมีคอร์สสอนออนไลน์เดือนหน้านี้ (June 2020) ใครสนใจเข้าไปดูทางเวปของเซนเซได้ที่ https://www.sakumoto-karate.academy/english *Ryu Ryu Ko คืออาจารย์คนเดียวกับที่สอนมวยให้กับ Kanryo Higaonna (เกิดปี 1852 เป็นเพื่อนกับ Kenchu ลูกชาย Norisato Nakaima) ผู้เป็นอาจารย์ของ Chojun Miyagi ผู้ก่อตั้ง Goju-ryu ภาพจาก https://travel67.com/2020/04/17/sensei-masters-of-okinawan-karate-7-tsuguo-sakumoto/

 
 
 

Comments


©2019 by Karate Phitsanulok. Proudly created with Wix.com

Subscribe Form

bottom of page