อนุสรณ์บิดาโกจูริวคาราเต้
- ケイ
- Mar 8, 2020
- 1 min read

อนุสรณ์อุทิศให้กับ Higaonna Kanryo และ Miyagi Chojun ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะมัทซึยามะในเขตคุเมะเมืองนาฮะ เป็นแท่นหินเรียบง่ายที่หากคนไม่รู้อาจไม่ทราบถึงความสำคัญ สร้างขึ้นในปี 1987 เพื่อเป็นการฉลองวันเกิดครบ 100 ปีของมิยากิโจจุน ด้านหน้าเขียนว่า "นักปราชญ์โบราณ ฮิกะออนนะ คันริโอ - หมัดนักบุญ มิยากิ โจจุน - อนุสรณ์ชื่นชม - ลายอักษรโดย จิน โฮนบุ" ด้านหลังสลักประวัติโดยย่อของปรจารย์ผู้ล่วงลับทั้งสอง*
ด้านล่างอนุสรณ์ที่เป็นภาพสลักสีขาวเป็นภาพจากคัมภีร์ Bubushi (武備志) ซึ่งเป็นคัมภีร์วิทยายุทธ์ของจีน "Wǔbèi Zhì" ที่เชื่อกันว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ที่บรรดาปรมาจารย์มวยของริวคิว (ชื่อเดิมก่อนเป็นโอกินาวะ) ได้คัดลอกด้วยมือจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อญี่ปุ่นเข้ามายึดครองอาณาจักรริวคิว ด้วยความที่กลัวว่าความรู้จะสูญหายหรือตกไปอยู่ในมือซามูไรญี่ปุ่น พวกเขาจึงซ่อนคัมภีร์ไว้ในถ้ำติดทะเลใกล้ศาลเจ้านามิโนอุเอะ (วัดที่สำคัญที่สุดในโอกินาวะ) ในเมืองนาฮะ และแอบมาเปิดคัมภีร์ฝึกวิชาตอนกลางคืนอยู่เป็นประจำ

(❖ ประวัติโดยย่อข้างล่างไม่ได้แปลมาจากคำสลักด้านหลังอนุสรณ์)
ฮิกะออนนะ คันริโอ (1853-1917) เกิดตั้งแต่สมัยหมู่เกาะโอกินาวะยังเป็นอาณาจักรริวคิวอยู่ (ริวคิวตกเป็นของญี่ปุ่นในปี 1879) เป็นผู้นำมวยกระเรียนขาวจากฟูเจียงในประเทศจีน มาเผยแพร่ในโอกินาวะ และเป็นผู้คิดค้นมวยสาย Naha-te และสอน มิยากิ โจจุน ซึ่งต่อมามวยของเขาได้กลายเป็นคาราเต้โกจูริว
มิยากิ โจจุน (1888-1953) ผู้ก่อตั้งคาราเต้สายโกจูริว เริ่มฝึกมวยนาฮะเตะกับ ฮิกะออนนะ คันริโอ ตั้งแต่อายุ 14 หลังจากอาจารย์เขาเสียชีวิต เขาเดินทางไปฝึกมวยต่อที่ฟูเจียงและฟูโจว และได้เอาความรู้ที่ได้จากจีนมารวมเข้ากับวิชาที่เขาได้เรียนจากฮิกะออนนะจนมาเป็นคาราเต้โกจูริวในปัจจุบัน (โกจูริวในญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากโกจูริวโอกินาวะอยู่บ้าง ตามความเข้าใจและการตีความของ ยามะกุจิ โกเกน ผู้ก่อตั้ง Gojukai)

ที่น่าสังเกตุคือในส่วนคำสลักประวัติของ ฮิกะออนนะ บนอนุสรณ์ คำว่าคาราเต้ยังใช้คันจิดั้งเดิมอยู่คือ 唐手 ซึ่งแปลว่า "มือ" (หรือมวย) จีน โดยที่คันจิที่แทนประเทศจีนใช้ตัว 唐 ซึ่งหมายถึงราชวงศ์ถังที่ปกครองจีนในช่วงปี 618 ถึง 907 แต่พอมาในส่วนประวัติของ มิยากิ ใช้เป็น 空手 ซึ่งเป็นคันจิที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
Comentarios