top of page
Search

Zanshin (残心 ซันชิน)

  • Writer: ケイ
    ケイ
  • Apr 15, 2019
  • 1 min read

Updated: Apr 24, 2019



Zanshin (残心) ซันชินเป็นแนวคิดเซนที่ถูกนำมาควบรวมในศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง คำแปลตามตัวเป็นภาษาอังกฤษคือ "remaining mind" หรือ "reserved mind" โดยหากแปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณ "จิตอันคงสติ" ซึ่งเป็นการคงสติอยู่กับปัจจุบันตลอดเวลาไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ ให้สามารถรับรู้ถึงสิ่งรอบข้างว่ามีอะไรและกำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็คือการเจริญสติที่เป็นวิธีการฝึกสมาธิแบบหนึ่งใน Zen โดยการมีสติและคงไว้ไม่หวั่นไหวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญระดับความเป็นความตายสำหรับซามูไรในสนามรบที่อันตรายมาได้ทุกทางและเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นพวกเขาจึงต้องฝึกเจริญสติอยู่ทุกชั่วขณะไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม ศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึง Zanshin ได้อย่างชัดเจนคือ Kyudo หรือศิลปะการยิงธนูของญี่ปุ่น ที่ผู้ยิงจะต้องมีสตินิ่งแน่วแน่ตั้งแต่ก่อนยิง และคงไว้อย่างไม่หวั่นไหวแม้ลูกธนูจะถูกยิงออกไปแล้ว (นาทีที่ 2:22)



Kendo ก็เป็นอีกศาสตร์นึงที่เน้น Zanshin อย่างมาก เพราะเป็นศาสตร์ที่มาจากการจำลองการต่อสู้ของซามูไร โดยในการแข่งขัน แม้คนที่ฟันเข้าเป้าได้แต่ไม่แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของความมุ่งมั่นในการต่อสู้หลังจากฟันไปแล้ว ก็จะไม่ถือว่าเป็นแต้ม ซึ่งคาราเต้ก็นำเอาโมเดลนี้มาใช้เช่นกัน ทั้งในการแข่งขันประเภทต่อสู้และท่ารำ ที่นักกีฬาจะต้องแสดงให้เห็นถึง alertness หรือความคงสติตื่นรู้ในทุกชั่วขณะ ทั้งการเผชิญหน้าคู่ต่อสู้ หรืออยู่ในท่ารำคนเดียว


การเจริญสติสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการเพ่งลมหายใจ (อานาปานสติ) เพ่งเปลวไฟ คงสติกับร่างกาย (โยคะ) Zanshin ก็เป็นการเจริญสติโดยการคงสติกับสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ฝึก ทำให้ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 หากทำได้อย่างต่อเนื่อง จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่านจนนิ่งเหมือนน้ำในบึงที่ไร้คลื่น นิ่งใสเป็นกระจกจนสามารถสะท้อนในเห็นโลกและจักรวาลได้อย่างชัดเจน สภาวะนั้นเรียกว่ามูชิน (Mushin 無心) หรือ "no mind" หรือสภาวะจิตบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง ปราศจากอคติและอัตตา รู้เห็นทุกสิ่งอย่างที่มันเป็นจริงๆ ซึ่งหากสามารถคงสภาวะมูชินได้อย่างต่อเนื่องจนเป็นนิจ นิพพานก็จะกระจ่างขึ้นมาเอง


แม้ว่าการฝึกสมาธิจะมีหลายวิธี แต่การที่ Zanshin เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นน่าจะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นต้องใช้ชีวิตอยู่กับภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ คนญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องระวังตัว ช่างสังเกต และมีความพร้อมในการรับมือกับภัยอันตรายอยู่ตลอดเวลา แนวคิดนี้จึงซึมซับอยู่ในทุกศาสตร์ของญี่ปุ่นตั้งแต่ศิลปะการต่อสู้ การชงชา การวาดภาพ หรือแม้แต่การจัดดอกไม้ ถ้าคุณถามสุดยอดปราจารย์ในศาสตร์ญี่ปุ่นแขนงไหนก็ได้ว่าเขาถึงจุดสูงสุดของศาสตร์นั้นหรือยัง ทุกคนจะตอบเหมือนกันว่าเขายังต้องเรียนรู้อีกมาก ซึ่งนั้นก็คือ Zanshin ที่ไม่หลงว่าตัวเองรู้หมดแล้ว แต่ยังคงสติพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาฝีมือต่อไปอย่างไม่รู้จบ


ในศิลปะการต่อสู้ Zanshin นอกจากจะมีความจำเป็นในเชิงการใช้งานจริงแล้ว ยังเป็นการเจริญสติวิธีนึงที่ปลายทางคือนิพพาน ไม่ต่างจากนักบวชเซนที่นั่งสมาธิ Zazen หรือเดินจงกรม หรือกวาดลานวัด เพื่อเจริญสติจนจิตเป็นมูชินและเข้าถึงนิพพาน ซึ่งนี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมแม้คนที่ไม่ได้ต้องการเผชิญหน้าต่อสู้หรือแข่งขันกับใครเลย ก็ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจฝึกฝนขัดเกลาศิลปะการต่อสู้ไปตลอดชีวิต ถึงจุดหมายของทุกคนอาจไม่ใช่นิพพาน แต่ Zanshin ทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของความเหม่อลอย ไร้สติ ไร้จุดหมาย การมี Zanshin คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ อยู่กับปัจจุบัน จิตกระจ่างใสไม่มัวหมอง และพ้นทุกข์ในที่สุด


อ้างอิง;

https://www.zen-buddhism.net/zen-concepts/zanshin.html

https://jamesclear.com/zanshin

http://www.edkishtur.com/yoga-articles/2017/1/11/-zanshin-the-spirit-of-movement-

 
 
 

Comments


©2019 by Karate Phitsanulok. Proudly created with Wix.com

Subscribe Form

bottom of page