top of page
Search

Ki (気) คืออะไร?

  • Writer: ケイ
    ケイ
  • May 5, 2019
  • 1 min read

Updated: May 6, 2019


* บทความนี้สรุปเนื้อหาจากบทความของเซนเซ Yokota Kousaku แห่ง Asai Shotokan Association International


Ki ก็คือ Qi/Chi หรือชี่ในศาสตร์แพทย์แผนโบราณและศิลปะการต่อสู้ของจีน เป็นแนวคิดที่มีมาอย่างน้อย 3,000 ปี ความหมายของคิจริงๆแล้วตรงไปตรงมาคือ "พลังชีวิต" หรือพลังที่ทำให้เกิดและรักษาความมีชีวิตของสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืช (แต่ในญี่ปุ่นบางสำนักขยายไปถึงสิ่งไม่มีชีวิตอย่างก้อนหิน ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ ด้วย ซึ่งน่าจะมาจากการผนวกเข้ากับความเชื่อในลัทธิชินโตที่บูชาธรรมชาติ) คน (หรือสัตว์หรือพืช) ที่แข็งแรงก็เชื่อว่ามีคิมาก คนที่ป่วยหรืออ่อนแอก็เชื่อว่ามีคิน้อย คนตายคือไม่มีคิ (คนญี่ปุ่นเวลาทักทายถามสารทุกข์สุกดิบก็จะถามว่า เกงคิ? 元気? ซึ่งหมายถึง สบายดีมั้ย? ถ้าแปลตามตัวก็จะประมาณ "คิดีมั้ย?") แต่ความเชื่อในคิหรือ "พลังชีวิต" นี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางวิทยาศาสตร์เพราะไม่สามารถตรวจวัดได้ แต่วิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีคำอธิบายว่าอะไรทำให้เกิดความมีชีวิตในส่ิงมีชีวิต


การที่สุขภาพของคนๆหนึ่งจะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความแข็งแรงของคิที่มีอยู่ในร่างกาย และการไหลเวียนของคิว่าไปได้ทั่วถึงและสะดวกแค่ไหน การเพิ่มปริมาณหรือความแข็งแรงของคิทำได้สองวิธี


1) นำเข้าจากภายนอก ซึ่งง่ายที่สุดคือการดื่มหรือกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

2) สร้างหรือบริหารจากภายใน ด้วยการฝึกฝนในศาสตร์ต่างๆ เช่น ไท่เก๊ก มวยจีนสายต่างๆ โยคะ คาราเต้บางสาย หรือแม้แต่การทำสมาธิ


ฉะนั้นการรักษาผู้ป่วยในสมัยโบราณจึงเน้นไปที่การเสริมสร้างคิด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์และยาสมุนไพรต่างๆ และกระตุ้นการไหลเวียนของคิด้วยการฝังเข็มหรือการลนด้วยไอร้อน (灸 moxa/moxibustion) ส่วนผู้ที่ไม่ได้เจ็บป่วยแต่ต้องการมีสุขภาพดี นอกจากการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ก็จะฝึกฝนในศาสตร์ต่างๆที่คิดว่าเหมาะกับตัวเอง โดยศาสตร์ที่สามารถกระตุ้นการไหลเวียนและสร้างสมดุลของคิได้ดีที่สุด (หากได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง) คือไท่เก๊ก เพราะเป็นการฝึกประสานจังหวะการหายใจให้เข้ากับการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆโดยไม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อ โยคะก็เป็นอีกศาสตร์นึงที่สร้างและกระตุ้นการไหลเวียนของคิได้ดี แต่โยคะจะเน้นการหายใจที่ลึกและซับซ้อนกว่า และมีการค้างท่าเพื่อเกร็งกล้ามเนื้อบางส่วนเพื่อสร้างความแข็งแรงของทั้งร่างกายและคิ ในขณะที่ไท่เก๊กจะเน้นที่ความไหลลื่นของการเคลื่อนไหวและจังหวะการหายใจอย่างผ่อนคลายกว่า การนั่งสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจ (ให้ไหลเวียนจากจุดตันเถียน (丹田) ที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของคิ ขึ้นไปตามกระดูกสันหลังถึงจุดกลางกระหม่อม (crown chakra) และวนลงมาผ่านลิ้นปี่กลับมาที่ตันเถียน) ไม่ว่าจะศาสตร์ไหน สิ่งที่ผู้ฝึกฝนรู้สึกได้ทันทีหลังการฝึกทุกครั้งคือความรู้สึกที่ดี ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ทีแจ่มใสขึ้นจากฮอร์โมนเอนโดฟินที่สมองหลั่งขึ้นจากการออกกำลังกายและการประสานลมหายใจอย่างมีสติ


สิ่งที่ทั้งศาสตร์จีนโบราณและวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเห็นตรงกันก็คือ การหายใจส่งผลโดยตรงกับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และการหายใจอย่างถูกจังหวะประกอบกับการอยู่ในท่าที่เหมาะสมช่วยบรรเทาอาการไม่สบายทางกาย อย่างอาการปวดหัว ท้องอืด ความดันสูง ฯลฯ และอาการไม่สบายทางจิต อย่างความเครียดและซึมเศร้าได้ แต่การอธิบายกระบวนการของทั้งสองศาสตร์จะต่างกัน ตัวอย่างเช่น การหายใจช้าๆลึกๆส่งผลให้ร่างกายผ่อนคลายและรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น ทางวิทยาศาสตร์จะอธิบายว่าเพราะร่างกายและสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้นและคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขับออกไปมากขึ้นทำให้เซลทำงานได้ดีขึ้น ส่วนทางจีนโบราณก็จะอธิบายว่าเพราะลมหายใจนำพาคิให้ไหลเวียนได้ทั่วถึงขึ้นร่างกายจึงรู้สึกมีพลังขึ้น เป็นต้น


ส่วนในคาราเต้ กลุ่มนาฮะเตะ (โกจูริวและอูเอจิริว) ดูเหมือนจะเน้นการฝึกคิมากที่สุด ด้วยการหายใจแบบอิบูคิ (息吹き ibuki) ที่หายใจแบบสุดขั้วทั้งเข้าและออกจากจุดตันเถียน ในคาตะซันจิน (三戦 Sanchin) ที่เชื่อว่าสามารถสร้างคิและร่างกายให้แข็งแรงได้ แต่ที่แน่ๆการหายใจแบบสุดขั้วนี้ช่วยบริหารกระบังลมให้แข็งแรง ซึ่งช่วยให้ปอดทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นหมายถึงการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ของเลือดที่ปอดดีขึ้น สุขภาพของเซลทุกเซลในร่างกายก็ดีขึ้นด้วย (ในโยคะก็มีการหายใจในลักษณะนี้ แต่จะเสริมด้วยการฝึกเคลื่อนไหวอวัยวะภายในเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด) แต่การเกร็งกล้ามเนื้อในคาตะซันจินเพื่อสร้างความแข็งแรงนั้นไม่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของคิได้ดีเท่าการผ่อนคลายกล้ามเนื้อในไท่เก๊ก สำหรับคาราเต้สายโชโตกัน คาตะที่เน้นฝึกคิมากที่สุดคือฮังเกตซึ (半月 Hangetsu) เพราะเป็นท่าที่เน้นการควบคุมลมหายใจในทำนองเดียวกับซันจิน แต่น่าเสียดายที่เป็นคาตะที่โชโตกันหลายสำนักไม่ค่อยเน้น


การคิไอ (気合 Ki-ai) ในคาราเต้ แม้ความหมายตามตัวจะแปลว่าการรวมพลังหรือการรวมคิ แต่มันไม่ได้ช่วยในการสร้างหรือเสริมความแข็งแรงของคิ การตะเบ็งเสียงคิไอบ่อยเกินไปกลับลดและขัดขวางการไหลเวียนของคิด้วยซ้ำ เพราะมันคือการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ และการเกร็งกล้ามเนื้อขณะคิไอทำให้คิไม่ไหลเวียน เปรียบได้กับเสียงระเบิดที่ตัวเสียงเองนอกจากจะไม่ช่วยเพิ่มพลังการทำลายล้างของระเบิดแล้วยังเป็นพลังงานที่สูญเสียไปอีกด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรคิไอ การออกเทคนิคด้วยพลังมักจะอยู่ในจังหวะลมหายใจออก และการหายใจออกอย่างรุนแรงและรวดเร็วเสียงจะออกมาเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ควรไปฝืน แต่หากตะเบ็งเสียงเพียงเพื่อการสร้างภาพหรือดึงดูดความสนใจ (อย่างที่เห็นในการแข่งขันต่างๆ) นั่นคือคิที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์


ในยุคก่อนศตวรรษที่ 20 คาราเต้ในโอกินาวะไม่มีการคิไอ แม้แต่ฟูนาโคชิผู้นำคาราเต้ไปเผยแพร่ในญี่ปุ่นก็ไม่เน้นการคิไอ (แต่ก็ไม่ได้ห้าม) แต่พอเริ่มมีการแข่งขัน การคิไอเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้น จนการเป็นเรื่องปกติในโดโจ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการฝึกเด็กๆเพื่อสร้างสปิริตและความกระตือรือร้น สำหรับผู้ใหญ่การคิไอก็สามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงหรือตัวกำหนด timing เพื่อช่วยให้ร่างกายทุกส่วนสามารถโฟกัสได้ในขณะเวลาเดียวกันเพื่อคิเมะที่ดีได้


สรุปแล้ว ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องคิ การฝึกคิด้วยลมหายใจและการเคลื่อนไหวอย่างถูกท่าถูกจังหวะ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีของศาสตร์โบราณใดๆ) จะช่วยให้เรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เราจะสามารถควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ลดโอกาสการเจ็บป่วย มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ใช้ร่างกายและสติปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประโยชน์เหล่านี้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็เห็นด้วยจึงสนับสนุนให้ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ทำสมาธิ ฯลฯ เพียงแต่เขาไม่ได้อธิบายด้วยคิอย่างในศาสตร์จีนโบราณเท่านั้นเอง


*ที่มา:

http://asaikarate.com/what-is-ki-%E3%80%80氣とは何ぞや?%E3%80%80part-1/

http://asaikarate.com/what-is-ki-氣とは何ぞや?%E3%80%80part-2/


ภาพจาก: https://www.gaikikou.jp/kitoha/

 
 
 

Commentaires


©2019 by Karate Phitsanulok. Proudly created with Wix.com

Subscribe Form

bottom of page