top of page
Search

เจ้าของโดโจคาราเต้ที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา เซนเซ บอร์โคว์สกี

  • Writer: ケイ
    ケイ
  • Dec 28, 2019
  • 1 min read

เซนเซ ซีซ่าร์ บอร์โคว์สกี เจ้าของโดโจคาราเต้ที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา 9-dan Okinawa Karate และ 9-dan Kobudo เริ่มต้นในวัยเด็กจากการฝึกคาราเต้เพื่อการแข่งขัน จนถึงจุดอิ่มตัวที่ไม่รู้จะแข่งไปเพื่ออะไร จึงเลิกฝึกไปพักนึงจนรู้สึกเหมือนชีวิตขาดอะไรไป จากนั้นจึงเริ่มกลับมาค้นหาสิ่งที่ขาดหายไป โดยเริ่มจากการไปฝึกกังฟูที่เมืองจีนจนกลับมาค้นพบคาราเต้ดั้งเดิมที่โอกินาวะ และพบว่ามันมีความลึกซึ้งมากกว่าที่เขาเคยรู้จักคาราเต้ที่เคยฝึกสมัยยังหนุ่ม และเขาก็ยังค้นพบโคบูโด (ศิลปะการใช้อาวุธ) ที่เขาเห็นว่ามันเหมาะกับผู้สูงอายุอย่างมาก เขาจึงมุ่งมั่นฝึกฝนคาราเต้โอกินาวะและโคบูโดอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้


ในด้านความเป็นกีฬาของคาราเต้ เซนเซมองว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเยาวชนเพราะเป็นด้านที่เข้าถึงพวกเขาได้ง่ายในเชิงรูปธรรม แต่พออายุมากขึ้นคนที่มีความสนใจในศาสตร์เชิงลึกก็จะกลับมาค้นหารากเหง้าของมัน ซึ่งก็จะพบว่าคาราเต้ตั้งเดิมก็ยังคงเป็นแก่นหลักที่ไม่เคยหายไปไหน ในส่วนอื่นของโลก เรามักจะคุ้นกับการที่เยาวชนผูกสายขาวเข้าไปเริ่มฝึกคาราเต้ คาราเต้ในส่วนอื่นของโลกจึงมีภาพความเป็นกีฬาสูง แต่ในโอกินาวะ เป็นเรื่องปกติมากๆที่จะเห็นคุณลุงวัยหกสิบกว่าผูกสายขาวเข้ามาเริ่มฝึกคาราเต้ เพราะตอนวัยหนุ่มเขาต้องยุ่งกับการทำงาน พอเกษียรแล้วเขาถึงมีเวลามาทำในสิ่งที่สนใจ ซึ่งเซนเซมองว่านั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะคาราเต้ดั้งเดิมเป็นศาสตร์ที่ฝึกได้ทุกวัย คาราเต้ที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของร่างกายอย่างเดียวอย่างที่คนนอกโอกินาวะเข้าใจกัน แต่ยังรวมไปถึงจิตใจและความเป็นสังคม


เอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างนึงของคาราเต้โอกินาวะที่เซนเซมองเห็นคือความเป็นมิตรและความเป็นครอบครัวอันเป็นนิสัยของคนโอกินาวะเองที่ทำให้บรรยากาศการฝึกคาราเต้เป็นไปอย่างอบอุ่น ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะแพร่กระจายไปสู่สังคมโลกร่วมกับคาราเต้ด้วย


นอกจากคาราเต้แล้ว เซนเซยังตระเวณฝึกศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นในประเทศต่างๆด้วยและเขาพบว่าศิลปะโบราณอย่างสีลัตของอินโดนีเซีย และมวยไทยไชยา มีหลายเทคนิคที่คล้ายคาราเต้โอกินาวะมาก ซึ่งแม้จะบอกไม่ได้ว่าศาสตร์ไหนยืมมาจากศาสตร์ไหน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือความเป็นสากลของเทคนิคที่มันต้องมีประสิทธิภาพในระดับสูงพอสมควรถึงใช้กันในหลายๆวัฒนธรรม


เซนเซเองยังจัดกิจกรรมเพื่อการกุศลหลายอย่าง เช่นจัดคอร์สสอนคาราเต้ในโรงเรียนโดยเก็บผู้ปกครองคนละ 50 เหรียญฯจากนั้นพอจบคอร์สเซนเซก็บริจาคเงินทั้งหมดที่ได้จากผู้ปกครองให้กับโรงเรียน เซนเซมองว่านอกจากจะเป็นการเผยแพร่คาราเต้แล้วยังเป็นการสื่อถึงความไม่เห็นแก่ตัว (selfless) ของคาราเต้ให้คนทั่วไปได้เข้าใจด้วยตอนท้ายเซนเซบอกว่าคาราเต้ไม่ใช่งานอดิเรกหรืออาชีพเขา แต่คาราเต้คือชีวิตเขา และเขารู้ดีว่าชีวิตเขาจะจบลงในชุดคาราเต้บนพื้นโดโจคาราเต้


ดูบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://youtu.be/ECIvzvXXifM

 
 
 

Comments


©2019 by Karate Phitsanulok. Proudly created with Wix.com

Subscribe Form

bottom of page